15 มิถุนายน พ.ศ. 2504 หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกันซื้อลิขสิทธิ์ นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูล ณ อยุธยา) ในราคา 400 บาท นับเป็นการขายลิขสิทธิ์ครั้งแรกในเมืองไทย หมอบรัดเลย์พิมพ์เสร็จและวางแผงในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2404 นิราศเรื่องนี้ หม่อมราโชทัยเขียนขึ้นระหว่างเดินทางเป็นล่ามให้กับคณะทูตสยามไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษ ในสมัยพระราชินีวิคตอเรีย เมื่อปี 2400 นับเป็นนิราศเรื่องแรกที่กล่าวถึงบ้านเมืองในประเทศตะวันตก นิราศลอนดอนเป็นทั้งวรรณคดี และจดหมายเหตุพงศาวดารชิ้นสำคัญของสยาม
หมอบรัดเลย์ เป็นผู้ซึ่งทำประโยชน์ให้ชาวไทยเป็นอย่างมาก ได้สร้างคุณูปการใหญ่ยิ่งให้แก่สังคมไทย ได้นำการแพทย์สมัยใหม่มาสู่ประเทศไทย คือการผ่าตัด ทั้งการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษในสมัยก่อน การรักษาต้อกระจก การถอนฟัน การเผยแพร่การผดุงครรภ์ นอกจากนี้ยังเผยแผ่ศาสนา รวมถึงวิวัฒนาการทางด้านหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
หมอบรัดเลย์
หมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley, M.D.)เป็นหมอสอนศาสนา ชาวเมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุตรคนที่ 5 ของนายแดน แบรดลีย์ และนางยูนิช บีช แบรดลีย์ บิดาเป็นต้นแบบของหมอบรัดเลย์โดยเคยเป็นทั้งหมอสอนศาสนา ผู้พิพากษา เกษตรกร และบรรณาธิการวารสารทางเกษตรกรรม ดังนั้นจึงสร้างเป็นแนวความคิดให้หมอบรัดเลย์ใฝ่ฝันอยากจะเผยแพร่ศาสนาอย่างบิดาบ้าง จึงตัดสินใจเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ เมื่อจบการศึกษาก็สมัครเป็นมิชชันนารีในองค์กร American Board of Commissioners of Foreign Missions (ABCFM)
หมอบรัดเลย์เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาในประเทศไทยในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดยได้แวะที่สิงคโปร์และได้รับชุดตัวพิมพ์ภาษาไทยที่ American Board of Commissioners of Foreign Missions ในประเทศสิงคโปร์ได้ซื้อไว้ ก่อนจะเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย
บ้านหมอบรัดเลย์
ในระยะแรกหมอบรัดเลย์ได้อาศัยอยู่ในละแวกสัมพันธวงศ์โดยเปิดเป็นร้านจ่ายยา และช่วยรักษาโรคให้แก่ชาวพระนคร ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ฝั่งธนบุรีและได้รักษาพยาบาลคนเรื่อยมา โดยผลงานที่สำคัญคือการผ่าตัดผู้ป่วยคนไทยจนสามารถรักษาชีวิตเอาไว้ได้ ถือว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลยทีเดียว ส่วนในงานเผยแพร่ศาสนานั้นหมอบรัดเลย์ก็ไม่ได้ละเลย ยังคงเผยแพร่คำสอนของศาสนาคริสต์อยู่เรื่อยมา และการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นั้นจำเป็นต้องมีหนังสือเพื่อช่วยให้คนเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาใหม่นี้ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหมอบรัดเลย์จึงย้ายไปอาศัยอยู่ข้างวัดประยูรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีทำเลดี และได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ศาสนา และได้ใช้ตัวอักษรภาษาไทยที่ได้มาจากสิงคโปร์ในคราวที่แวะจอดเรือก่อนจะเข้ามาประเทศไทย
แท่นพิมพ์ในอดีต
งานชิ้นแรกที่ หมอบรัดเลย์พิมพ์เป็นภาษาไทยในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2382 คือ การพิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นและห้ามค้าฝิ่น ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำขึ้นจำนวน 9,000 แผ่น ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารราชการไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เอกสารราชการไทยฉบับแรกที่มีการตีพิมพ์
ต่อมาในปีพ.ศ. 2385 หมอบรัดเลย์ได้หล่อชุดพิมพ์ขึ้นมาใหม่ และในอีกสองปีต่อมาหมอบรัดเลย์ได้ใช้ชุดพิมพ์ตัวใหม่นี้ จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายเดือนภาษาไทยฉบับแรกขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่าชื่อว่า บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) ออกวางจำหน่าย ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกที่มีขึ้นในประเทศไทย แต่หนังสือพิมพ์เล่มดังกล่าวก็อยู่ได้ไม่นานต้องปิดตัวไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่ภรรยาของหมอบรัดเลย์สิ้นชีวิตพอดี ทำให้การดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์รีคอร์เดอร์ไม่สามารถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงต้องหยุดลงชั่วคราว โดยหมอบรัดเลย์ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศของตนเป็นระยะเวลาหนึ่งและได้แต่งงานใหม่ก่อนจะกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้ง กลับมาคราวนี้หมอหมอบรัดเลย์ได้ลาออกจาก American Board of Commissioners of Foreign Missions เข้ามาย้ายไปสังกัดองค์กร American Missionary Association (AMA) แทน
หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์
องค์กรใหม่มีฐานะทางการเงินไม่สู้ดีเท่าที่ควรจึงทำให้หมอบรัดเลย์ต้องหารายได้พิเศษโดยการพิมพ์หนังสือขาย เพื่อจุนเจือฐานะทางการเงิน โดยหนังสือที่พิมพ์ในช่วงนี้มีหลายหลายประเภททั้ง ตำราเรียนภาษาไทย เช่น ประถม ก กา จินดามณี หนังสือกฎหมาย ทั้งยังพิมพ์เรื่องในวรรณคดีต่างๆเช่น ราชาธิราช สามก๊ก เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น เป็นต้นและในช่วงนี้เองที่ทำให้มีการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเพื่อมาจัดพิมพ์วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ หมอบรัดเลย์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือนิราศลอนดอนที่เขียนโดย หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) เป็นเงิน 400 บาท ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2404 ทำให้หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นหนังสือเล่มแรกของไทยที่มีการซื้อขายลิขสิทธ์ตามแบบอย่างตะวันตก และสำนักพิมพ์ต่างๆก็ยังคงยึดถือหลักการนี้สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
สุสานหมอบรัดเลย์
หมอบรัดเลย์สิ้นชีวิตด้วยโรคฝีในท้อง (วัณโรค) ในปี พ.ศ. 2416 ด้วยวัย 69 ปี ศพของท่านถูกฝังไว้ที่สุสานโปรเตสแตนท์ ยานนาวา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ขอบคุณที่มา :
http://storyofsiam.blogspot.com/p/blog-page_02.html
http://www.vcharkarn.com/varticle/38234